top of page
สรุปความรู้ภาษาไทยม.2
บทเรียน เรื่อง การพูด

 การพูดอวยพร เรื่อง พรแห่งความหวัง 

 

     การกล่าวคำอวยพร
     ในการพูดอวยพรเราต้องรู้วัยวุฒิและคุณวุฒิของผู้ที่ได้รับการอวยพรนั้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พูดต้องให้ความสำคัญ

การพูดโน้มน้าวใจ เรื่อง โน้มใจให้เชื่อ

 

     การพูดโน้มน้าวใจ คือ การพูดชักจูงใจให้เชื่อหรือปฏิบัติตาม


     หลักการพูดโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังปฏิบัติตาม
     พูดให้เห็นความต้องการอย่างชัดเจน พูดในลักษณะเร้าอารมณ์ให้ผู้ฟังคล้อยตามหรือเกิดความรู้สึกร่วม และพูดชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้ฟังจะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อย่างไรบ้าง

การพูดโฆษณา เรื่อง พูดดีมีเงิน
 

     หลักการพูดโฆษณา
     1. พูดให้ลูกค้าเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ
     2. ศึกษาหาข้อมูลของลูกค้า
     3. ควรหาจังหวะเวลาในการพูดที่เหมาะสม
     4. พูดเสนอเนื้อหาอย่างกระชับและชัดเจน
     5. ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าลูกค้าสำคัญที่สุด
     6. ใช้ภาษาที่ไพเราะและมีลักษณะที่โน้มน้าวใจลูกค้า

การพูดวิเคราะห์วิจารณ์ เรื่อง สะท้อนเรื่องที่ฟังและดู

 

     การพูดวิเคราะห์ คือ การพูดสรุปความที่ต้องแยกแยะระหว่างใจความสำคัญและพลความ และต้องแยกแยะข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็นของข้อมูล

วิเคราะห์เป็นการแยกแยะข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นของข้อมูล


     การพูดวิจารณ์ คือ การนำเสนอความคิดเห็นต่อเรื่องที่ฟังและดูตามมุมมองของผู้พูด

วิจารณ์ การนำเสนอความคิดเห็นของตัวเราเอง

หลักทั่วไปของการพูด

          การพูด คือ สื่อสารโดยใช้เสียง ในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน ทำให้เกิดความสามัคคีและการทำงานบรรลุเป้าหมาย จุดมุ่งหมายของการพูดเพื่อจูงใจ จรรโลงใจ สร้างความสัมพันธ์อันดี แสวงหาความรู้และถ่ายทอดความคิด โดยลักษณะการพูดที่ดีผู้พูดต้องมีกริยาท่าทางและการวางตัวที่เหมาะสม ใช้น้ำเสียงน่าฟัง ชัดเจน และถูกต้อง มีมารยาทในการพูด กล่าวคือ พูดเรื่องที่เหมาะกับผู้ฟัง สามารถควบคุมอารมณ์ได้ และกล่าวขอบคุณผู้ฟังเมื่อจบการพูด

 

ประเภทของการพูด

         –  แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการพูดได้แก่  การพูดเพื่อให้ความรู้ (อธิบายหรือแสดงเหตุผล) การพูดเพื่อจูงใจ (โน้มน้าวให้คล้อยตาม) และการพูดเพื่อจรรโลงใจ (ให้เห็นค่านิยมและความดีงาม)

         –  หากแบ่งตามลักษณะของวิธีพูด ได้แก่ การพูดแบบอ่านจากต้นฉบับ (กรณีเป็นทางการ) การพูดแบบท่องจำ (บทพูดสั้นๆ) การพูดแบบเตรียมตัวล่วงหน้า และการพูดโดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า (อาศัยไหวพริบ)

 

ขั้นตอนในการเตรียมการพูด

 

 

 

การใช้ภาษาในการพูด

          –   การใช้วัจนภาษา ควรเรียงประโยคให้ถูกต้อง เลือกใช้คำที่สุภาพ ชัดเจน และเหมาะสมกับกาลเทศะ

          –   การใช้อวัจนภาษา ควรแสดงสีหน้าท่าทาง และการวางตัวให้เหมาะสม

 

การพูดแสดงเหตุผล

          การแสดงเหตุผล = ข้อสนับสนุน(เหตุผล) + ข้อสรุป โดยอาจใช้สันธานแสดงเหตุผล หรืออาจไม่ใช้สันธานแต่อาศัยการเรียงลำดับความ ดังนี้

          ๑.  ใช้สันธานแสดงเหตุผล

              – ข้อสนับสนุนอยู่หน้าข้อสรุป เช่น จึง เพราะว่า...จึง ดังนั้น...จึง

              – ข้อสรุปอยู่หน้าข้อสนับสนุน เช่น เพราะ... เพราะว่า... เนื่องจาก...

          ๒. ไม่ใช้สันธาน แต่เรียงข้อสนับสนุนและข้อสรุปในที่ที่เหมาะสม 

 

                     

  

การพูดในโอกาสต่าง ๆ

          ๑. การทักทายปราศรัย ต้องใช้คำพูดที่สุภาพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน อาจด้วยการยิ้ม การยกมือไหว้ หรือการกล่าวคำทักทายเพื่อแสดงไมตรี

          ๒. การแนะนำตนเอง ควรเริ่มด้วยการกล่าวทักทาย เล่าถึงอดีต (ภูมิลำเนา การศึกษาเบื้องต้น การย้ายถิ่น) ปัจจุบัน (การศึกษา อาชีพ ครอบครัว ที่อยู่ ความสนใจ) และอนาคต (ความมุ่งหวัง อุดมการณ์ คติประจำใจ)

 

 

          ๓.  การแนะนำผู้อื่น ต้องกล่าวนำถึงหัวเรื่องที่พูด บอกชื่อ ตำแหน่ง ประสบการณ์ทำงาน การศึกษา ความสามารถพิเศษ และผลงานของผู้ที่ต้องการแนะนำ

          ๔.  การกล่าวขอบคุณ ต้องกล่าวแสดงความรู้สึกถึงบุญคุณและความสำคัญของสิ่งที่มอบหรือความช่วยเหลือที่ได้รับ แล้วจึงกล่าวขอบคุณและแสดงความหวังในความกรุณาโอกาสต่อไป

 

         ๕.   การกล่าวแสดงความยินดี ต้องกล่าวถึงโอกาสที่แสดงความยินดี ความดีของบุคคล หรือคุณประโยชน์ของกิจการ แล้วจึงกล่าวอวยพรและแสดงความยินดี

 

 

           ๖.   การสนทนา

            –   หลักการสนทนา การสนทนาที่ดีต้องให้ทุกคนมีโอกาสพูด ผู้สนทนาต้องเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่น่าฟังและชัดเจน ใส่ใจฟังและพยายามทำให้การสนทนาน่าสนใจ

            –   เรื่องที่สนทนา ข่าว เหตุการณ์ หรือเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน เหมาะสมกับกาลเทศะ

            –   การเริ่มต้นสนทนาไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยเรื่องตลก ควรใช้คำที่ผู้ร่วมสนทนาสามารถเสริมต่อได้ง่าย

            –   การเสริมต่อการสนทนา ทำให้การสนทนาดำเนินต่อไปได้ โดยอาจหยุดเรื่องเดิมแล้วเปลี่ยนเรื่องใหม่

 

              –   การขัดจังหวะการสนทนา เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดในการพูดให้ถูกต้อง ควรกล่าวขอโทษก่อนทุกครั้ง และใช้คำที่สุภาพในการท้วงติง ผู้ที่ถูกท้วงติงก็ควรเต็มใจรับฟังและแก้ไข

         

              ๗.   การพูดโทรศัพท์ เมื่อรับโทรศัพท์ควรกล่าวสวัสดี  และใช้ถ้อยคำที่สุภาพ หากผู้พูดต้องการพูดกับผู้อื่น ให้เปิดเสียงรอสายหรือวางโทรศัพท์ไว้ด้านข้างก่อนไปเรียกบุคคลนั้น

       

         

 

มารยาทในการพูด

          ควรแต่งกายให้เหมาะสม สำรวมกริยามารยาท ใช้คำที่สุภาพ รักษาเวลา รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และรู้จักควบคุมอารมณ์

 

สรุป

        ผู้พูดที่ประสบความสำเร็จต้องมีจุดมุ่งหมายในการพูด เตรียมการพูด มีท่าทางเหมาะสม และมีมารยาทในการพูด เราควรพัฒนาการพูดในชีวิตประจำวันให้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทักทาย การแนะนำตนเอง การขอบคุณ การแสดงความยินดี การสนทนา และการพูดโทรศัพท์ 

 

คำสำคัญ   การพูด, การพูดในโอกาสต่าง ๆ, มารยาทในการพูด, การพูดแสดงเหตุผล 

bottom of page